จังหวัดตากประชุมรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม

03 เมษายน 2562
จังหวัดตากประชุมรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จำนวน  37 แปลง รวมพื้นที่  1,193.20 ไร่
 
          วันที่ 14 มีนาคม 2562 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสำนักงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีการจัดประชุมคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS จังหวัดตาก ครั้งที่ 1/2562 ที่ประชุมมีฉันทามติรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์ 12 แปลง รวมพื้นที่ 809 ไร่ และแปลงระยะปรับเปลี่ยนสู่เกษตรอินทรีย์ 25 แปลง รวมพื้นที่ 384.20 ไร่ รวมทั้งสิ้น 37 แปลง รวมพื้นที่ 1,193.20 ไร่
 
          คณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee Systems) จังหวัดตาก ประกอบด้วยที่ปรึกษา 4 ท่านได้แก่ นายพันธ์ ทาอินทร์ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ รองเลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายเชษฐา สุขประเสริฐ ประธานสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย โดยมีผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตาก เป็นประธานคณะกรรมการ มีรองประธานคณะกรรมการ 3 ท่านจากบริษัทประชารัฐรีกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร และพัฒนาการจังหวัดหรือผู้แทน โดยมีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆในจังหวัดอีกจำนวน 15 คน
 
          คณะกรรมการชุดนี้ มีบทบาทสำคัญคือ 1) พิจารณารับรองมาตรฐานแปลงเกษตรอินทรีย์ตามเกณฑ์ SDGsPGS ตามที่คณะทำงานส่งเสริมและตรวจรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์มาตรฐาน SDGsPGS จังหวัดตาก และคณะทำงานกลั่นกรองตรวจสอบระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ SDGsPGS จังหวัดตากส่งให้พิจารณา  2) ออกเอกสารหนังสือหรือใบรับรองมาตรฐาน SDGsPGS ให้กับแปลงเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านการพิจารณารับรอง และ 3) พิจารณาคำร้อง ยุติกรณีพิพาทต่างๆ ระหว่างเกษตรกร บริษัท ผู้ประกอบการและผู้บริโภค หากเกิดขึ้นในกระบวนการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐาน SDGsPGS
 
          นายบัญญัติ พุ่มพันธ์ เป็นประธานในที่ประชุมแทน ดร.สุรเสน ทั่วทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนตาก กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ในวันนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดตากที่มีการขับเคลื่อนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์โดยภาคประชาชนและมีการรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์จำนวน 37 แปลง รวมพื้นที่ 1,193.20 ไร่ นายบัญญัติยังได้สรุปและเสนอในที่ประชุมว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีการทำจริงๆ และควรขยายผลเพื่อช่วยพี่น้องเกษตรกรในจังหวัดตากที่ต้องการการรับรองมาตรฐานและการเชื่อมโยงตลาด ควรมีการทำฐานข้อมูลเพื่อการเรียนรู้เทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ (Knowledge Managment) จากแต่ละแปลงที่ได้รับการรับรอง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมาตรฐานอื่นด้วยเพื่อความเป็นสากล เกษตรกรอินทรีย์ไม่ควรเน้นพืชเชิงเดี่ยวแต่เป็นพืชผสมผสานที่สามารถสร้างรายได้ระยะสั้นถึงระยะยาว ต้องช่วยกันเชื่อมโยงตลาดเพื่อเกษตรกรและสุดท้ายหน่วยงานต่างๆต้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อเพิ่มผลิตภาพการทำเกษตรอินทรีย์ให้ได้อย่างยั่งยืน
 
          ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ เลขาธิการสหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ในวาระแจ้งเพื่อทราบได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงที่มาของการขับเคลื่อนมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ซึ่งให้ความสำคัญขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) การพัฒนากลไกและบทบาทของกลไกต่างๆในระดับจังหวัดและระดับชาติ เกณฑ์การรับรอง 22 ข้อและฉายให้เห็นภาพการขับเคลื่อนมากกว่า 20 จังหวัดแล้วและกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการหนุนเสริมจากหน่วยงานต่างๆเช่นกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการศึกษาหลายแห่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เกษตรกรรมยั่งยืน และได้แสดงความยินดี ชื่นชมทีมงานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนตาก บริษัทประชารัฐรักสามัคคีตาก วิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัทออร์แกนิคตาก และคณะทำงานทุกคนที่ได้ช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์ และจะได้ขยายผลช่วยเกษตรกรเต็มพื้นที่จังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป