บีโอไอ ชูไทยยุทธศาสตร์สำคัญ เชื่อมเศรษฐกิจจีน – อาเซียน

14 มิถุนายน 2562
 บีโอไอ ชูไทยยุทธศาสตร์สำคัญ 
 เชื่อมเศรษฐกิจจีน – อาเซียน 
 
               บีโอไอหนุนไทยจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงเศรษฐกิจไทย-กวางตุ้ง พร้อมร่วมมือยกระดับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน ระบุปี 61 นักลงทุนจีน – ฮ่องกงยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีเพิ่มเป็น 2 เท่า มูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท
 
               นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานสัมมนา ความร่วมมือเศรษฐกิจการค้าจีน (กวางตุ้ง) – ไทย (Thailand Economic and Trade Cooperation Conference) เนื่องในโอกาสที่นายหลี่ ซี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลกวางตุ้ง และคณะเดินทางมาประเทศไทยว่า ประเทศไทยถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นประตูสู่อาเซียน ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศจีนได้อย่างดีอีกด้วย เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสมแก่การลงทุน เช่น อันดับความสามารถในการแข่งขันจัดโดย IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนี้ ไทยขึ้นมา 5 อันดับมาอยู่อันดับที่ 25 ขณะที่ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยธนาคารโลกปี 2562 ไทยอยู่ในอันดับ 3 ของอาเซียน และไทยยังเป็นประเทศที่มีความซับซ้อนทางธุรกิจน้อยที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก จากการจัดอันดับโดย TMF Group ประเทศเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้ รัฐบาลไทยก็ยังมีมาตรการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนผ่านมาตรการของบีโอไอ อีกด้วย
 
               แม้ว่าไทยจะเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของหลายอุตสาหกรรม แต่ไทยก็ต้องการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการไปสู่สาขาที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น ส่วนมณฑลกวางตุ้งนั้นก็ได้พัฒนากลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี ไทยจึงมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนสินค้าเทคโนโลยีและมีส่วนร่วมมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทานของมณฑลกวางตุ้งสาหรับสินค้าเทคโนโลยี
 
“ประเทศไทยอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นประตูสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการสัมมนานี้ จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รองรับกับนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative: BRI) และการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมณฑลกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า (GBA) และภูมิภาคเอเชียให้เติบโตไปพร้อมกัน” นางสาวดวงใจกล่าว
 
               สำหรับนักลงทุนจีน – ฮ่องกง มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2560 ด้วยมูลค่า 42,562 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ใน กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะ เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2562) นักลงทุนจีนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีแล้วกว่า 9,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของมูลค่าการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีทั้งหมดรวม 75,097 ล้านบาท
 
ข้อมูลจาก: ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)