น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF)

28 กุมภาพันธ์ 2568
ทุกวันนี้การเดินทางด้วยเครื่องบินกลายเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงได้มากขึ้น ทั้งสายการบิน Low-Cost และ Full-Service ต่างแข่งขันกันเพื่อรองรับความต้องการของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอีกมุมหนึ่ง การบินก็นับว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
 
นี่จึงเป็นที่มาของ น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นคำตอบใหม่ของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนได้สูงสุด 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเจ็ตแบบเดิม และเปิดโอกาสให้กับธุรกิจชีวภาพในยุคเศรษฐกิจใหม่
 
ผลิตจากอะไร ทำไม SAF ถึงพิเศษ
SAF เป็น "พลังงานหมุนเวียน" ที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวภาพหลากหลาย เช่น
• น้ำมันพืชใช้แล้ว และ ไขมันสัตว์
• ของเสียทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด กาบมะพร้าว เศษหญ้า
• ขยะชีวภาพ เช่น เศษอาหารและบรรจุภัณฑ์

วัตถุดิบเหล่านี้ถูกแปรสภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้ SAF มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายกับน้ำมันเจ็ตแบบฟอสซิล และสามารถผสม SAF กับน้ำมันเจ็ตแบบเดิมได้โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

เทรนด์โลกไปทางไหน?
SAF กำลังได้รับการผลักดันอย่างกว้างขวางในระดับโลก องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจากอุตสาหกรรมการบินเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และนโยบายระดับโลกต่างก็ขับเคลื่อนการใช้ SAF
• ฝรั่งเศส : บังคับให้เที่ยวบินที่ออกจากประเทศผสม SAF ขั้นต่ำ 1% ตั้งแต่ปี 2022 และเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2050 |อ้างอิง
• สหภาพยุโรป : เริ่มบังคับใช้ SAF ในปี 2025 ด้วยสัดส่วนขั้นต่ำ 2% และเพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในปี 2050 |อ้างอิง
• สหรัฐอเมริกา : สหรัฐฯ ตั้งเป้าผลิตเชื้อเพลิงการบินยั่งยืน (SAF) ให้ได้ 3 พันล้านแกลลอนภายในปี 2030 โดยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 50% เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเป็น 100% ของความต้องการเชื้อเพลิงการบินทั้งหมดภายในปี 2050
 
ไม่เพียงเท่านี้ รายงานของ cCarbon คาดการณ์ว่าการผลิต SAF ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 30 เท่า ภายในปี 2030 และมูลค่าตลาดจะพุ่งแตะ 29.7 พันล้านดอลลาร์ โดยภูมิภาค เอเชียแปซิฟิก จะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสำคัญ ด้วยสัดส่วน 17% ของการผลิต SAF ทั่วโลกจากการเป็นภูมิภาคที่มีการขนส่งทางอากาศขนาดใหญ่และเติบโตเร็วที่สุด
 
อุตสาหกรรมชีวภาพกับ SAF : ความเชื่อมโยงที่สร้างโอกาสทางธุรกิจ
การพัฒนา SAF ไม่เพียงแต่ช่วยลดคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน แต่ยังสร้างระบบนิเวศใหม่ที่เชื่อมโยงหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่ม อุตสาหกรรมชีวภาพ ที่กำลังกลายเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจยุคใหม่
1. การผลิตวัตถุดิบชีวภาพ : จุดเริ่มต้นของพลังงานสะอาด
พืชพลังงานและของเสียทางการเกษตร เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมชีวภาพ และเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต SAF เช่น
• อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด
• น้ำมันพืชใช้แล้วและไขมันสัตว์
• ชีวภาพจากภาคอุตสาหกรรมอาหาร เช่น เศษอาหารและบรรจุภัณฑ์
ตลาดพืชพลังงานทั่วโลกกำลังเติบโต ! รายงานจาก Market Research Future คาดการณ์ว่าตลาดพืชพลังงานจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 212 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2030 ซึ่งการเติบโตนี้มาจากความต้องการพลังงานสะอาดที่สูงขึ้น
 
2. การแปรรูปทางชีวภาพ : เทคโนโลยีขั้นสูงสู่ SAF
เทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมเคมี เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ช่วยให้การแปรรูปวัตถุดิบชีวภาพเป็น SAF เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีใหม่ เช่น Catalytic Hydrothermolysis (CH) และ Fischer-Tropsch (FT) Process ถูกพัฒนาเพื่อแปรรูปชีวมวลให้เป็น SAF
โอกาสสำหรับธุรกิจ การลงทุนในเทคโนโลยีการกลั่นน้ำมันชีวภาพและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และขยายขีดความสามารถของธุรกิจให้เติบโตไปตามความต้องการ SAF ที่เพิ่มขึ้น
 
3. โลจิสติกส์และการกระจาย SAF : ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมชีวภาพ
ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานจึงเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลบวกจาก SAF ไม่ว่าจะเป็น
• การขนส่งวัตถุดิบชีวภาพจากฟาร์มสู่โรงกลั่น
• การจัดเก็บ SAF ในคลังเชื้อเพลิงสำหรับสายการบิน
• การพัฒนาเครือข่ายการกระจายเชื้อเพลิงที่เชื่อมโยงทั่วโลก
ความท้าทายของ SAF : โอกาสที่มาพร้อมแรงผลักดัน

แม้ SAF จะมีศักยภาพสูง แต่ยังเผชิญกับความท้าทายที่ต้องการนวัตกรรมและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง 
1. ต้นทุนการผลิตสูง : ปัจจุบัน SAF มีราคาสูงกว่าน้ำมันฟอสซิลถึง 2 - 3 เท่า
2. การจัดหาวัตถุดิบ : ความเพียงพอของวัตถุดิบชีวภาพเป็นโจทย์สำคัญ
3. นโยบายภาครัฐ : การสนับสนุนด้านภาษีและกฎหมายจะช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านนี้
 
ทำไม SAF คือโอกาสธุรกิจแห่งอนาคต 
การลงทุนใน น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าสู่เวทีโลกในยุคเศรษฐกิจสีเขียว และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน
 
น้ำมันอากาศยานยั่งยืน (SAF) + อุตสาหกรรมชีวภาพ = พลังงานอนาคตที่จับต้องได้

• อุตสาหกรรมชีวภาพกำลังเติบโตไปพร้อมกับการขยายตัวของ SAF
• เทคโนโลยีการแปรรูปชีวมวลกลายเป็นโอกาสใหม่สำหรับนักลงทุน
• ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการผลิต SAF และ Bio-based Energy

เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน และเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ล่าสุด บอร์ดบีโอไอได้มีมติเพิ่มประเภทกิจการการผลิต SAF รวมถึง SAF แบบผสม ให้ผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์บีโอไอ สร้างแต้มต่อในธุรกิจ และพร้อมขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตไปกับ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งเป็นทิศทางที่ทั้งโลกกำลังมุ่งไป