หลักเกณฑ์การอนุมัติโครงการ

คณะกรรมการมีหลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ดังนี้
1  การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ
1.1  ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของรายได้  ยกเว้นกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร  กิจการอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน  และกิจการ ตัดโลหะ ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของรายได้
1.2  ต้องมีกรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
1.3 ต้องใช้เครื่องจักรใหม่  กรณีการใช้เครื่องจักรใช้แล้วจากต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
(1)  เครื่องจักรใช้แล้วที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็น    เงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม
(2)  สำหรับเครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่ปีที่ผลิตถึงปีที่นำเข้า ที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้ในโครงการ และให้นับเป็น       เงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ได้แก่ เครื่องปั๊มเท่านั้น โดยต้องได้รับใบรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ ในด้านประสิทธิภาพของเครื่องจักร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน รวมทั้งการประเมินราคาที่เหมาะสม  
(3)  สำหรับกิจการขนส่งทางเรือ กิจการขนส่งทางอากาศ และแม่พิมพ์ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วที่มีอายุเกิน 10 ปีในโครงการได้ตามความเหมาะสม  โดยให้ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า และให้นับเป็นเงินลงทุนสำหรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
 
ทั้งนี้ รายละเอียดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด 
1.4  โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องดำเนินการให้ได้รับใบรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปี นับแต่วันครบเปิดดำเนินการ  หากไม่สามารถดำเนินการได้ จะถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี
1.5  สำหรับกิจการที่ได้รับสัมปทาน และกิจการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการ จะใช้แนวทางการพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ดังนี้
(1)  โครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2552 จะไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับการส่งเสริม
(2)  โครงการที่ได้รับสัมปทานที่เอกชนดำเนินการ โดยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่รัฐ (Build Transfer Operate หรือ Build Operate Transfer) หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการดังกล่าวที่ประสงค์จะให้ผู้ได้รับ สัมปทานได้รับสิทธิและประโยชน์การส่งเสริมการลงทุน ต้องเสนอโครงการให้คณะกรรมการพิจารณาก่อนออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วม ประมูล และในขั้นการประมูล ต้องมีประกาศระบุโดยชัดเจนว่าเอกชนจะได้รับสิทธิและประโยชน์ใดบ้าง  โดยในหลักการ คณะกรรมการ จะไม่ให้การส่งเสริมกรณีเอกชนต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่รัฐในการรับสัมปทาน  เว้นแต่เป็นผลตอบแทนที่สมเหตุสมผลกับการลงทุนที่รัฐใช้ไปในโครงการนั้น
(3)  โครงการของรัฐที่ให้เอกชนลงทุนและเป็นเจ้าของ (Build Own Operate) รวมทั้งให้เอกชนเช่าหรือบริหาร โดยจ่ายผลตอบแทนให้รัฐในลักษณะค่าเช่า  คณะกรรมการจะพิจารณาให้การส่งเสริมตามหลักเกณฑ์ทั่วไป
(4) การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัดตามพระราชบัญญัติ         ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542  หากต้องการขยายงาน จะขอรับการส่งเสริมได้เฉพาะส่วนที่ลงทุนเพิ่ม  โดยจะได้รับสิทธิและประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ทั่วไป
 
2  การป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม
2.1   ต้องมีแนวทางและมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ สำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการจะพิจารณาเป็นพิเศษในเรื่องสถานที่ตั้งและวิธีจัดการมลพิษ
2.2   กรณีกิจการใดที่มีรายละเอียดโครงการ หรือกิจกรรมต่อเนื่อง ที่อยู่ในข่ายตามประเภทและขนาดโครงการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ให้โครงการหรือกิจการนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม หรือตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องนั้นๆ ด้วย
2.3  โครงการที่ตั้งในจังหวัดระยอง ต้องปฏิบัติตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ ป.1/2554 เรื่อง นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดระยอง ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
3  เงินลงทุนขั้นต่ำ และความเป็นไปได้ของโครงการ
3.1 ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำของแต่ละโครงการไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)  เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริม การลงทุนท้ายประกาศนี้
ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มธุรกิจบริการที่ใช้ฐานความรู้เป็นปัจจัยหลักในการดำเนินธุรกิจ ให้พิจารณาเงินลงทุนขั้นต่ำจากเงินเดือนบุคลากรต่อปี ซึ่งจะกำหนดไว้เป็นการเฉพาะในบัญชีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุน ท้ายประกาศนี้
3.2   ต้องมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียนไม่เกิน 3 ต่อ 1 สำหรับโครงการริเริ่ม  ส่วนโครงการขยาย จะพิจารณาตามความเหมาะสมเป็นรายกรณี
3.3   โครงการที่มีเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) มากกว่า 750 ล้านบาท   ต้องเสนอรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามที่คณะกรรมการกำหนด